Final-NBC2-Mar-Apr20_Page_01

แนะนำผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ คนใหม่

หนูแดงอัพเดท มีความยินดีที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย คนใหม่ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ สำหรับประวัติของท่าน ท่านเกิดเมื่อวันที่
8 เมษายน 2503 สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2527 และ ได้รับวุฒิบัตรฯ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทยสภา (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)
ปี 2535 จากนั้นไปศึกษาด้านการฟื้นฟูโรคหัวใจที่สหรัฐอเมริกา ปี 2536 และได้รับประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตร Mini MBA in Health คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2546
เริ่มต้นทำงานตำแหน่งแพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย ปี 2530 จากนั้นได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2538 ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ปี 2543 เป็นหัวหน้าภาควิชา/หัวหน้าฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปี 2546 – 2554 ได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นระดับผู้บริหารของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปี 2552 จากนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฝ่ายการคลัง ระหว่างปี 2554 – 2562 และเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการคลัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปี 2558 – 2562

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อสานต่อการดำเนินงานบริการโลหิต โดยกำหนดนโยบายให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (customer center) ซึ่งได้แก่ ผู้บริจาคโลหิต ผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่ต้องการใช้โลหิตในการรักษาพยาบาล สร้างมาตรฐานบริการระดับสากลทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับคุณภาพความปลอดภัยสูงสุด โดยการทำงานเป็นทีมมืออาชีพที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมพัฒนาด้านวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีศักยภาพความพร้อมสูงมาก ทั้งด้านทรัพยากร และบุคลากรคุณภาพ ซึ่งเป็นหัวใจที่จะทำให้นโยบายบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ได้ไม่ยาก

สำหรับความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ การให้บริการโลหิตที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทันเวลาต่อความต้องการของผู้รับบริการทั่วประเทศตลอดปี และการพัฒนาองค์กรให้เป็นที่พึ่ง เป็นแหล่งอ้างอิง ด้านบริการโลหิตของประเทศ โดยได้วางกลยุทธ์ไปสู่ความท้าทายให้เป็นจริง ดังนี้

  1. วางยุทธศาสตร์การจัดหาโลหิต โดยการสร้างความตระหนักให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคที่เหมาะสม สอดคล้องกับวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรภายใน ภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. สร้างมาตรฐานงานบริการโลหิต โดยดำเนินงานด้านประกันคุณภาพ พัฒนางานวิชาการ วิจัย นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องใช้โลหิต ส่วนประกอบโลหิต ผลิตภัณฑ์โลหิต เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต และนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อการ lean ระบบงาน มีข้อมูลที่เป็นจริงทันท่วงที สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และวางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. สิ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ มีเจตคติที่ดี และมีความสุข ซึ่งจุดแข็งของเรา คือ ความเป็นสภากาชาดไทยที่น่าภาคภูมิใจ

ท้ายสุดนี้ ท่านผู้ผู้อำนวยการฯ ได้ฝากข้อคิดถึงหลักการทำงานของท่านไว้ว่า “ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และเอื้ออาทร” เป็นสิ่งที่ยืดถือมาโดยตลอด จึงอยากให้บุคลากรของเราทุกคน ทำงานอย่างมีความสุข ด้วยวัฒนธรรมกาชาด ซึ่งเป็นรากฐานที่ประสานการทำงานทั้งองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว”

จำนวนหน้า: 12 หน้า
วันที่เผยแพร่:
ฉบับที่ - ประจำเดือน: ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2563
ขนาดไฟล์: 20 MB
 
ตัวอย่าง:
Final-NBC2-Mar-Apr20_Page_01
Final-NBC2-Mar-Apr20_Page_02
Final-NBC2-Mar-Apr20_Page_03
Final-NBC2-Mar-Apr20_Page_04
Final-NBC2-Mar-Apr20_Page_05