รู้จัก เข้าใจ และพร้อมรับมือ “การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019”
แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนไปยังสถานที่ต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามในวงการการแพทย์ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจิรญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสว่า โดยทั่วไปอาจเกิดจากการแบ่งตัวของไวรัสในธรรมชาติที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงชนิดของสารพันธุกรรมได้ ซึ่งในบางครั้งอาจก่อให้เกิดผลต่อการแบ่งตัว คุณสมบัติในการแพร่กระจายเชื้อ ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ปัจจัยทางการรักษายังสามารถเป็นอีกสาเหตุในการกลายพันธุ์ของไวรัสได้อีกด้วย
ทั้งนี้ จากการศึกษารหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) อย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้มีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 800 ชนิด โดยบางสายพันธุ์นั้นสามารถแพร่กระจายโรคได้รวดเร็วกว่า รุ่นแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและอาจไม่ตอบสนองต่อวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน