พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยพระราชทานเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19
ในช่วงเวลาที่คนไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันกระทบต่อความเป็นอยู่ในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา ตลอดจนกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่ต้องทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่ภายใต้สถานการณ์นี้ ยังมีพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องมือแพทย์พร้อมที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพระบบรวมศูนย์ 11 เตียง อันประกอบด้วยชุดศูนย์กลางเก็บบันทึกข้อมูลทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยภาวะวิกฤต จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจผู้ป่วยชนิดข้างเตียง จำนวน 11 เครื่อง เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาลรับพระราชทาน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและการไหลเวียนโลหิตนี้ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตอย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยในการเฝ้าระวังและติดตามการทำงานของหัวใจ อัตราการหายใจ วัดความดันโลหิตภายนอก และปริมาณความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด โดยจะมีชดุ ศูนย์กลางเก็บบันทึกข้อมูลทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยภาวะวิกฤต ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลขั้นสูงที่จะประกอบการตัดสินใจในการรักษา พร้อมกันนี้ยังมีระบบสัญญาณเตือนที่สามารถจำแนกระดับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วย เช่น เมื่อหัวใจเต้นผิดปกติจะมีสัญญาณเตือนมายังชุดศูนย์กลาง เพื่อให้บุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่สามารถควบคุม และสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างมี
ประสิทธิภาพ
ขณะที่เครื่องติดตามการเต้นของหัวใจผู้ป่วยชนิดข้างเตียงที่ได้รับพระราชทานมาในโอกาสนี้ เป็นเครื่องมือที่มีระบบในการช่วยคำนวณข้อมูลต่างๆ ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่อีกด้วย ในโอกาสนี้ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ ได้อธิบายถึงความสำคัญของเครื่องมือทางการแพทย์ชิ้นดังกล่าวว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการเฝ้าติดตามสัญญาณชีพของผู้ป่วยหนักในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) อันจะทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีอุปกรณ์เพียงพอที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ามารับการรักษาตัว ชาวโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้